Last updated: 3 ก.ค. 2562 |
ถึงแม้ว่าวันนี้จะมีโรงแรมใหม่ๆผุดขึ้นมามากมาย มีหลายทำเลหลายสไตล์ให้เลือก แต่ด้วยความชื่นชอบในอาคารเก่า หย่งเฟอร์นิเจอร์ขอแนะนำที่พักกลิ่นอายประวัติศาสตร์ที่ตกแต่งอย่างเรียบหรูสวยงาม ไปพักเมื่อไหร่ก็ได้เอนกายไปพร้อมๆกับชมการตกแต่งสวยๆได้อย่างเพลิดเพลิน
1. โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ( Mandarin Oriental Bangkok )
เริ่มกันที่โรงแรมหรูที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ตั้งอยู่คู่แม่น้ำเจ้าพระยามากว่า 140 ปี นับเป็น luxury hotel แห่งแรกของเมืองไทย และเป็นหนึ่งในโรงแรมที่ถือว่าดีที่สุดของโลก
ส่วนสำคัญของโรงแรมคือ Author's Wing เป็นอาคารแบบนีโอคลาสสิก ออกแบบโดยนายเอส. คาร์ดู (S. Cardu) สถาปนิกชาวอิตาลี เน้นมุขกลางด้วยแผงประดับยื่นสูงปิดหลังคา ที่จั่วประดับตราพระอาทิตย์ และมีปูนปั้นเป็นชื่อโรงแรมที่คานใต้จั่ว ซุ้มหน้าต่างโค้งประดับไม้ฉลุ ภายในจัดด้วยเครื่องเรือนแบบตะวันออก บรรยากาศเหมือนบ้านคหบดีในยุคเก่าที่ทั้งสง่างามและอบอุ่น
ตึกนี้เคยเป็นที่พักของคนสำคัญระดับโลกมากมาย รวมทั้งนักเขียนงานคลาสสิคระดับโลกอย่าง Oscar Wilde, Arthur Conan Doyle, Victor Hugo, Leo Tolstoy, Ernest Hemingway, Rudyard Kipling และอีกหลายชื่อที่ได้ยินแล้วต้องร้องโอ้โห
ปัจจุบันอาคารนี้ใช้เป็นที่จิบน้ำชายามบ่ายและเป็นห้องสวีทขนาดใหญ่ ตกแต่งในธีมคลาสสิคสีขาว-เขียว ให้บรรยากาศสวยงาม ผ่อนคลาย เหมือนย้อนกลับไปสมัยศตวรรษที่ 19 อีกครั้ง
ลักษณะโรงแรม 5-star hotel
จำนวนห้องพัก 368 ห้อง
www.mandarinoriental.com
(ข้อความบางส่วนจาก http://asaconservationaward.com )
2. เซ็นทาราแกรนด์บีชรีสอร์ทแอนด์วิลล่า หัวหิน ( Centara Grand Beach Resort & Villas Hua Hin )
(ภาพจาก http://www.centarahotelsresorts.com/centaragrand/chbr/)
โรงแรมเก่าแก่อลังการสไตล์โคโนเนียลริมหาดหัวหิน ที่ใครได้ไปเยือนก็ต้องประทับใจ เดิมชื่อ “โฮเต็ลหัวหิน” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี เอ. รีกาซซี (A. Rigazzi) เป็นรีสอร์ทริมชายหาดแห่งแรกของไทย
ตัวอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ หลังคามุงกระเบื้องว่าวสีแดง เมื่อแรกสร้างมีห้องพัก 14 ห้อง ก่อสร้างอย่างหรูหรา สิ่งของเครื่องใช้บางอย่างส่งตรงมาจากยุโรป ประทับตราการรถไฟอย่างหรู ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของโรงแรมนี้คือเน้นการใช้ไม้ในตัวอาคาร เช่น ราวระเบียงเป็นไม้ทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นเสาไม้หุ้มปูน มีทางเดินและระเบียงกว้างขวาง มีหลังคาคลุม เป็นการประยุกต์สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกให้เข้ากับภูมิอากาศของไทย
ปัจจุบันส่วนอาคารเก่าของโรงแรมรถไฟถูกเรียกว่า Railway Wing ใช้เป็นห้องพักเช่นเดียวกับตึกที่สร้างขึ้นใหม่ภายหลังอีก 2 ตึก โดยทั้งหมดยังคงลักษณะอาคารและการตกแต่งภายในที่สวยสง่า คลาสสิค เพื่อคงเอกลักษณ์เดิมของโรงแรมไว้ให้ได้มากที่สุด
ลักษณะโรงแรม 5-star hotel
จำนวนห้องพัก 207 ห้อง, 42 วิลล่า
www.centarahotelsresorts.com
(ข้อความบางส่วนจาก http://asaconservationaward.com )
3. The Memory at On On
(ภาพจาก https://www.facebook.com/MemoryatOnOn/)
โรงแรมแห่งแรกของเมืองภูเก็ต เดิมมีชื่อเป็นภาษาจีนว่า โรงแรม ออน ออน เปิดให้บริการตั้งแต่ยุคการทำเหมืองแร่เฟื่องฟู
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นตึกแถวสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ความสูง 2 ชั้น ด้านหน้าตึกมีทางเดินเท้าเป็นช่องซุ้มโค้งเชื่อมกันไปตลอด เรียกว่าอาเขต บนผนังตกแต่งด้วยลายปูนปั้นทั้งแบบจีนและตะวันตก ผสมกันอย่างลงตัว
ภายในอาคารมีฉิ่มแจ้ หรือบ่อน้ำและคอร์ทโล่งกลางอาคาร นับเป็นอาคารเก่าที่ยังคงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมภูเก็ตไว้ได้อย่างครบถ้วน
ปัจจุบันได้รับการรีโนเวตใหม่ทั้งตัวอาคารและการตกแต่งภายใน เป็นโรงแรมบูทีคสุดเก๋ มีความร่วมสมัยในกลิ่นอายของการตกแต่งแบบโบราณ โดยใช้สีสันสดใส เฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์จีน ร่วมกับของตกแต่งที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของชาวภูเก็ตได้อย่างลงตัว
ลักษณะโรงแรม luxury boutique hotel
จำนวนห้องพัก 43 ห้อง
www.thememoryhotel.com
(ข้อความบางส่วนเรียบเรียงจาก http://thememoryhotel.com )
4. 137 Pillars House Chiangmai
(ภาพจาก www.137pillarschiangmai.com)
บ้านบอร์เนียวเป็นเรือนไม้สักสไตล์โคโลเนียลขนาดใหญ่อายุกว่า 125 ปี ตั้งอยู่ในย่านวัดเกตซึ่งเป็นย่านการค้าสำคัญของเมืองเชียงใหม่ในอดีต เดิมเป็นสำนักงานของบริษัทบอร์เนียว ที่มาทำกิจการสัมปทานไม้สักที่ภาคเหนือของไทย
ปัจจุบันได้ใช้บ้านบอร์เนียวเป็นโถงต้อนรับและห้องประชุมของโรงแรม ซึ่งกว่าจะกลับมาเป็นอาคารสวยสมบูรณ์ขนาดนี้ได้ ต้องผ่านการบูรณะตามวิธีการอนุรักษ์อาคารหลายขั้นตอน ทั้งการยกตึกให้สูงขึ้นเพื่อให้พ้นระดับน้ำท่วม การรื้อกระเบื้องหลังคาลงมาทำความสะอาด ซ่อมแซมและติดตั้งเข้าไปใหม่ การซ่อมแซมส่วนที่เป็นไม้ทั้งหมดของเรือน และอีกหลายขั้นตอน เพื่อให้สามารถรักษารูปแบบดั้งเดิมทางสถาปัตยกรรมของอาคารเอาไว้ให้มากที่สุด
ภายในโรงแรมตกแต่งในสไตล์ classic oriental ด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นส่วนใหญ่ ผสมกลิ่นอายแบบบ้านในยุคอาณานิคมด้วยของตกแต่งอย่างกระเป๋าเดินทางวินเทจ หรือโซฟาหวาย เพื่อให้คงบรรยากาศผ่อนคลายแบบคลาสสิคเหมือนในอดีต สมกับความเป็นมาอันยาวนานของอาคาร
ลักษณะโรงแรม 5-star boutique hotel
จำนวนห้องพัก 30 ห้อง
www.137pillarschiangmai.com
(ข้อความบางส่วนจาก http://asaconservationaward.com )
5. พระยา พาลาซโซ ( Praya Palazzo )
(ภาพจาก https://www.facebook.com/prayapalazzo/)
หนึ่งในโรงแรมบูทีคโฮเท็ลที่มีเอกลักษณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เดิมคือบ้านบางยี่ขัน เรือนหอของอำมาตย์เอกพระยาชลภูมิพานิช กับคุณหญิงส่วน อดีตข้าหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าออกแบบโดยนายช่างชาวอิตาลี
อาคารมีลักษณะแบบสมมาตรตามสไตล์ Neo Palladian ผสมผสานทั้งฝรั่ง-ไทย-จีน สวยสง่าคลาสสิคด้วยซุ้มปูนปั้น ประตูหน้าต่างประดับกระจกสี เทอเรสกว้างและบันไดหินอ่อนด้านหน้าอาคาร
อาคารหลังนี้ถูกเปลี่ยนมือไปหลายครั้งและมีการใช้งานหลายรูปแบบ จนถูกทิ้งร้างทรุดโทรมเป็นเวลากว่าสิบปี ต่อมาภายหลังได้รับการปรับปรุงอีกครั้งโดย ผศ.วิชัย พิทักษ์วรรัตน์ ได้เข้ามาออกแบบบูรณะอาคารเพื่อเปิดเป็นห้องพักและห้องอาหาร ในชื่อใหม่ว่า พระยา พาลาซโซ
เนื่องจากอาคารถูกทิ้งร้างมานาน มีสภาพทรุดโทรม น้ำท่วมขัง และถนนเข้าไม่ถึง ทำให้การซ่อมแซมอาคารโดยคงลักษณะดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ถึงอย่างนั้น พระยา พาลาซโซ ก็ได้รับการเปลี่ยนโฉมใหม่จนงดงาม เป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจชิ้นสุดท้ายที่ผศ.วิชัยฝากไว้ก่อนจากไปตลอดกาล สมความตั้งใจที่จะฟื้นคืนชีวิตของบ้านแห่งความรักหลังนี้กลับมาอีกครั้ง
ลักษณะโรงแรม luxury boutique hotel
จำนวนห้องพัก 17 ห้อง
www.prayapalazzo.com
(ข้อความบางส่วนเรียบเรียงจาก http://asaconservationaward.com)
6. เดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก (The Raweekanlaya Bangkok Wellness Cuisine Resort)
(ภาพจาก www.raweekanlaya.com )
ไม่ว่าใครได้มาเยือนที่แห่งนี้ก็ต้องรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ด้วยบรรยากาศร่มรื่นจากสวนธรรมชาติ สระน้ำและต้นไทรใหญ่อายุกว่า 120 ปี เป็นโรงแรมแบบรีสอร์ทแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในย่านประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ
ความโดดเด่นของโรงแรมอยู่ที่กลุ่มอาคารเรือนพักอาศัยเดิมของพระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา พระนมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในส่วนเรือนพักนี้ทางโรงแรมได้ปรับปรุงเป็นห้องพักส่วน Garden Wing และยังได้สร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกับของเดิม
ภายในห้องพักตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยโทนสีขาว และเฟอร์นิเจอร์ที่มีรายละเอียดแบบฝรั่งในบางจุด สะท้อนการผสมผสานบรรยากาศวิถีไทยดั้งเดิมและความสะดวกสบายผ่อนคลายแบบร่วมสมัยได้อย่างดี
ลักษณะโรงแรม luxury boutique hotel
จำนวนห้องพัก 38 ห้อง
www.raweekanlaya.com
7. เดอะภูธร (The Bhuthorn)
(ภาพจาก www.thebhuthorn.com)
เรียกได้ว่า จิ๋วแต่แจ๋ว สำหรับโรงแรมขนาดกะทัดรัดในย่านชุมชนประวัติศาสตร์แพร่งภูธรแห่งนี้ แพร่งภูธรในอดีตเป็นย่านการค้าที่คึกคักมากทั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6
เดอะภูธร เป็นหนึ่งในตึกแถวของย่านนี้ที่ดัดแปลงจากร้านขายข้าวหมูแดงมาเป็นโรงแรมสไตล์บูติคโฮเตล โดยตัวอาคารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาจั่วมุงกระเบื้อง ผนังกั้นห้องและประตูหน้าต่างไม้ สถาปนิกเจ้าของโรงแรมได้ปรับปรุงซ่อมแซมโดยรักษารูปแบบดั้งเดิมของตัวอาคารไว้ ให้มากที่สุด ทั้งโครงสร้างและวัสดุที่นำมาใช้
การตกแต่งภายในเป็นแบบโคโลเนียลที่อ้างอิงมาจากยุคสมัยเดิมของตัวอาคาร เช่น การใช้ผ้าไทย เฟอร์นิเจอร์ไม้แบบแอนทีค เสื่อสาน การออกแบบและเลือกของตกแต่งอย่างพิถีพิถันทำให้ที่นี่สวยงามและอยู่สบาย ในกลิ่นอายประวัติศาสตร์ของพื้นที่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง
ลักษณะโรงแรม luxury boutique hotel
จำนวนห้องพัก 3 ห้อง
www.thebhuthorn.com
(ข้อความบางส่วนเรียบเรียงจาก http://asaconservationaward.com)
.....................
ติดตามบทความและสาระดีๆ จาก Yong Furniture พร้อมเสิร์ฟถึงมือคุณได้ที่ Facebook, และ Line @yongfurniture
20 มี.ค. 2561
25 ธ.ค. 2560
27 มี.ค. 2561
3 ส.ค. 2561